วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

"เด็กจีนขายไตซื้อ iPad "


ถือเป็นข่าวโศกนาฎกรรมที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ สำหรับข่าวเด็กหนุ่มชาวจีนวัย 17 ปีตัดสินใจขายไต 1 ข้างเพื่อนำเงินไปซื้อ iPad หลายคนโทษเด็ก หลายคนโทษสังคม และยังไม่มีใครออกมาตื่นตัวป้องกันเด็กและเยาวชน ไม่ให้พยายามอย่างผิดวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งเก็ดเจ็ดไฮเทคกระแสแรงอีก หรือว่าสื่อมวลชนเองที่ควรจะทบทวนการเสนอข่าวเกี่ยวกับสินค้าเทคโนโลยีอีกครั้ง เพื่อลดความเป็นดาบ 2 คมต่อเด็กที่ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ สำหรับคนที่ยังไม่รู้ ข่าวช็อกโลกนี้ฟังดูทั้งเสียวและน่าหดหู่ รายงานจาก Global Times ระบุว่าเด็กหนุ่มวัย 17 ปีนามว่า Zheng ตัดสินใจขายไตของตัวเอง 1 ข้างเพราะอยากได้เงินมาซื้อไอแพด 2 (iPad 2) หนุ่มน้อยพูดชัดเจนว่าอยากซื้อ iPad 2 แต่ไม่มีเงิน จึงติดต่อนายหน้าซื้ออวัยวะทางอินเทอร์เน็ตซึ่งเสนอเงินมูลค่า 2 หมื่นหยวน (ราว 1 แสนบาท) เพื่อแลกกับไต 1 ข้าง หลังการผ่าตัดไตเรียบร้อยในวันที่ 28 เมษายน หนุ่มน้อยได้ไอแพด 2 มาครอบครองสมใจโดยที่ไม่ได้บอกให้แม่ทราบ

แน่นอนว่าแม่แสดงความสงสัยว่าลูกชายนำเงินมาจากไหนจึงมี iPad 2 ราคาแพงใช้งาน เมื่อสอบถามจนรู้ว่าลูกชายขายไตเพื่อซื้อไอแพด จึงตัดสินใจพาลูกเข้าแจ้งความเพื่อเอาผิดต่อนายหน้าค้าอวัยวะในทันที เรื่องนี้ไม่เหมือนคดีไทยที่สามารถหาแพะว่าเรื่องนี้ใครผิดได้ง่ายๆ เพราะข่าวน่าสลดใจจากแดนมังกรนี้ไม่มีใครสามารถโทษว่าเป็นความผิดของเด็ก แม่เด็ก โรงเรียน ครอบครัว สังคม นายหน้าค้าอวัยวะ ผู้ซื้ออวัยวะ หมอผ่าตัด หรือแม้แต่แอปเปิล (โทษฐานที่ผลิตสินค้าได้น่าใช้เหลือเกินจนสาวกอดใจไม่ไหว) เนื่องจากทุกคนรู้ดีว่าผลที่เกิดขึ้นมาจากการผสมทั้งความฟุ้งเฟ้อของสังคม และการเห่อตามกระแสนิยมของเด็กวัยรุ่นอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หลายคนบอกว่าข่าวนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเด็กจีนขายไตเพื่อซื้อ iPad 2 แต่เด็กใจแตกทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยอาจเคยขายตัวเพื่อแลกกับเงินนำมาซื้อสินค้าฟุ้งเฟ้อมานานแล้ว แต่นาทีนี้ก็ควรมีใครสักคนที่หันมาทบทวนและหาทางป้องกันเพื่อไม่ให้เด็กและเยาวชนถูกครอบงำด้วยความอยากได้อยากมีเก็ดเจ็ดไฮเทค ก่อนที่จะเกิดเป็นข่าวร้ายน่าเศร้าในเมืองไทย หรือปัญหาสังคมอื่นๆในอนาคต สื่อมวลชนทั่วโลกก็ต้องไม่ลืมว่าตัวเองก็มีส่วนเป็นหนึ่งใน"แกนนำ"ที่ประโคมข่าวเกี่ยวกับเก็ดเจ็ดและโหมไฟจนกระแสเก็ดเจ็ดราคาแพงเกิดติดลมบนขึ้นมา ต้องคำนึงให้ดีว่าหน้าที่การตอบความอยากรู้ของชาวไอทีต้องเกิดขึ้นควบคู่กับความคิดว่าจะทำให้เกิดผลเสียต่อสังคมด้านใดบ้าง แน่นอนว่าทางออกของเรื่องนี้ไม่ใช่การหยุดเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับเก็ดเจ็ดของสื่อมวลชน ไม่ใช่การตัดสินใจเลิกผลิต iPad 2 ของแอปเปิล และไม่ใช่การเลิกสนใจเก็ดเจ็ตของเด็กนักเรียนนักศึกษา แต่เป็นการรณรงค์ให้พิจารณาวิธีการซื้อหาเก็ดเจ็ดด้วยสติและปัญญา แม้จะฟังดูแปลกแต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคดีลักษณะนี้ขึ้นอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น