วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ปฏิชีวนะสารของมด ช่วยรักษาโรคติดเชื้อราในคน
พบว่า สารที่มดขับออกมามีฤทธิ์เป็นปฏิชีวนะสารเรียกว่า เมตาพูลริน (metapleurin) ซึ่งมดใช้ในการป้องกันการติดเชื้อราและแบคทีเรีย สารนี้มีคุณสมบัติเป็นไขมัน ซึ่งแตกต่างจากยาปฏิชีวนะอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง
นักชีววิทยาชาวออสเตรเลียได้ค้นพบว่า มดผลิตปฏิชีวนะสารเพื่อการควบคุมโรคในบริเวณที่อยู่อาศัย จากการทดลองของโรงพยาบาลแห่งนครซิดนีย์ได้พบว่า ปฏิชีวนะสารเหล่านี้มีฤทธิ์กว้างขวาง สามารถทำลายจุลินทรีย์ได้หลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคในคน เช่น เชื้อราแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans)
นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาเกี่ยวกับมดหลายเชื้อสาย เพราะเขาสนใจว่าทำไมมดจึงไม่มีส่วนช่วยในการผสมดอกไม้ในขณะที่ผึ้งและตัวต่อซึ่งเป็นแมลงที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันช่วยในการผสมเกสรดอกไม้ ในที่สุดนักวิทยาศาสตร์พบว่า เกสรดอกไม้จะตายไปเมื่อสัมผัสกับตัวมดอันเนื่องมาจากสารที่ถูกขับถ่ายออกมาจากต่อมบริเวณทรวงอกของมดที่เรียกว่า ต่อมเมตาพูลรอล (metapleural glands)
เมื่อได้ศึกษาต่อไปจึงพบว่า สารที่มดขับออกมามีฤทธิ์เป็นปฏิชีวนะสารเรียกว่า เมตาพูลริน (metapleurin) ซึ่งมดใช้ในการป้องกันการติดเชื้อราและแบคทีเรีย สารนี้มีคุณสมบัติเป็นไขมัน ซึ่งแตกต่างจากยาปฏิชีวนะอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง เมตาพูลรินนี้มีฤทธิ์ข้างเคียงที่สำคัญ คือ ทำให้เกสรดอกไม้เหี่ยวเฉาและตายไป
จากการศึกษาพบว่า มีมดเพียงเชื้อสายเดียวที่ไม่มีต่อมเมตาพูลรอล มดชนิดนี้จึงมีหน้าที่ช่วยในการผสมเกสรดอกไม้ได้อย่างสำคัญ นั่นคือ สามารถช่วยในการผสมเกสรกล้วยไม้ได้ นอกจากนี้ยังพบอีกว่าฤทธิ์ของเมตาพูลรินต่อแบคทีเรียชนิดต่างๆ มากกว่า 300 ชนิด ให้ผลแตกต่างกันไป และมีฤทธิ์ทำลายเชื้อสแตฟฟีโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ซึ่งเป็นแบคทีเรียก่อโรคจำพวกฝีหนองที่สำคัญได้ดี
บริษัทยาในประเทศอังกฤษได้ให้ความสนใจต่อฤทธิ์ของเมตาพูลรินที่สามารถทำลายเชื้อราได้ บริษัทยาได้เรียกร้องให้พิสูจน์ว่า เมตาพูลรินสามารถทำลายเชื้อราได้จริงๆ และจากผลการทดลองของโรงพยาบาลเวสต์มีคพิสูจน์ว่า เมตาพูลรินมีฤทธิ์ทำลายเชื้อราแคนดิดา อัลบิแคนส์ได้ผลดีมาก และขณะนี้กำลังศึกษาฤทธิ์ของยานี้ต่อเชื้อราชนิดอื่นๆ ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น